วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

แค่หายใจเป็นก็ทำให้ชีวิตมีความสุข

ทำอย่างไรคนเราจึงจะสามารถมีความสุขได้ตลอดโดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอก พุทธศาสนามีวิธีการมากมายที่จะทำให้คนเราได้เข้าถึงความสุขแท้จริง ขอเสนอวิธีง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ เป็นเทคนิคฝึกหายใจเพื่อสกัดสารเอนดอร์ฟินส์หรือสารแห่งความสุขภายในร่างกายของเราเอง โดยไม่ต้องไปพึ่งพาอบายมุขใดๆ เป็นเคล็ดลับจาก พระไตรปิฎก
เคล็ดลับจากพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกอันเป็นแหล่งรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า หากเราได้อ่านคำสอนเกี่ยวกับการฝึกสติด้วยลมหายใจ(อานาปานสติ) เราจะพบคำสอนที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่าหากคนเราสามารถฝึกตนเองให้สามารถรู้สึกว่าลมหายใจของตนเองมีการเข้าออกภายในร่างกายได้อย่างชัดเจน และ สามารถทำลมหายใจ ของตนให้ละเอียดประณีต ลมหายใจอันละเอียดอ่อนนั้นก็จะทำให้ ร่างกายของเราหรือผู้ที่ฝึกเกิดความสุขอย่างประณีต รู้สึกโปร่งเบา สบายใจ เนื่องจากร่างกายหลั่งสาร เอนดอร์ฟินส์ ออกมา
ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถฝึกฝนตนเองจนสามารถรู้สึกถึงลมหายใจที่เข้าออกได้ชัดเจนราวกับรู้สึกว่ามีลูกสูบชักเข้าออกอยู่ในระบบหายใจของเรา หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น และสามารถทำลมหายใจให้ละเอียดประณีต หากเราทำได้ตามหลักข้างต้นเราก็จะพบกับความสุข คือ รู้สึกร่างกายสบาย โปร่งเบา (กายสังขารระงับ) เป็นความสุขที่ไม่ต้องไปพึ่งพาสิ่งภายนอก และแน่นอน...หากเราทำได้ตลอด ร่างกายของเราก็จะมีความ สุขตลอดเวลา ต่อไปคือเทคนิคการฝึกหายใจที่สามารถทำให้เรารู้สึกถึงลมหายใจได้อย่างชัดเจน เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติได้ง่ายสบายใจไม่ต้องมีพิธีรีตองแต่อย่างใด

๑. ขั้นฝึกหายใจ
๑. ทุกๆเช้า ฝึกควบคุมลมหายใจเพื่อเตรียมพร้อมที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตลอดวัน อย่างน้อย
สัก ๑๐-๓๐ นาที
๒. จะฝึกท่านั่งหรือนอนก็ได้ ตามสบาย (ขอแนะนำให้ปฏิบัติท่านั่ง จะรู้สึก มั่นคงดีกว่า )
๓. ยิ้มน้อย ๆ อย่างมีความสุข
๔. ยกมือขวาขึ้นมารอที่ปลายจมูก
๕. หายใจเข้าลึก ๆ อย่างอ่อนโยน พร้อมกับเคลื่อนมือช้า ๆ จากปลายจมูกลงไปตามลำคอ ภาวนาในใจว่า "หายใจเข้า..เบา..บาง...ง " ในขณะที่เคลื่อนมือลงไปให้จินตนาการสมมุติว่ามือของเรากำลังนำพาลมหายใจอันละเอียดอ่อนตามมือไปเรื่อย ๆ เคลื่อนมือลงมาถึงหน้าอก และในที่สุดมือก็พาลมหายใจมาถึงที่สะดือ
๖. หายใจออกยาว ๆ อย่างผ่อนคลาย พร้อมกับเคลื่อนมือช้า ๆ จากสะดือขึ้นมา ภาวนาในใจว่า "หายใจออก สบาย ใจ " ในขณะที่เคลื่อนมือขึ้นมา ให้จินตนาการสมมุติว่ามือของเรากำลังนำพาลมหายใจอันละเอียดอ่อนตามขึ้นมาจากสะดือขึ้นมาถึงหน้าอกผ่าน ลำคอและในที่สุดก็พาลมหายใจออกมาที่ปลายจมูก จากนั้นให้จินตนาการว่าลมหายใจของเราแผ่กระจายลมหายใจไปทุกทิศทางอย่างไม่มีขอบเขต
๗. ให้เคลื่อนไหวมือพาลมหายใจเข้าออกอย่างนี้อย่างช้า ๆ (ข้อที่๔-๕) กลับไปมา พยายามทำความรู้สึกว่าลมหายใจของเราช่างมีความเบาบางละเอียดอ่อนจริงๆ และให้ศึกษาว่าเมื่อเราทำลมหายใจให้ละเอียดประณีตแล้วจะมีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
๘ .หากเราปฏิบัติได้ถูกต้อง เราจะรู้สึกปีติปราโมทย์ ร่างกายสงบระงับ มีความสุขกาย สุขใจ รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้มีความพร้อมที่จะ ดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความมั่นใจ
๙ . หากเราได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติ และ ต้องการจะขอบคุณใครสักคน ขอให้เรานึกถึงรอยยิ้มของพระพุทธองค์ เพราะเทคนิคเหล่านี้นำมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก
๑๐.หากเราคิดจะตอบแทนคุณความดีของพระพุทธองค์ เราสามารถทำได้ ด้วยการช่วยกันศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์โดยตรงจากพระไตรปิฎก แล้วนำไปปฏิบัติประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้เป็นการตอบแทนคุณความดีที่พระพุทธองค์ทรงพอใจ (ปฏิบัติบูชา)

๒. ขั้นประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
๑. ในขณะที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้เราพยายามตามลมหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ ให้รู้สึกถึงลมหายใจเข้าออก ของเราได้อย่างชัดเจนเหมือนกับว่ากำลังมีสิ่งหนึ่งแล่นเข้าออกในทางเดินหายใจตลอดเวลา ยามใดที่เรารู้สึกว่าตามลมหายใจได้ไม่ชัด ให้ใช้มือเคลื่อนไหวช่วยนำลมหายใจสักเล็กน้อย ร่างกายจะก็สามารถรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้ทันที
๒. ให้พยายามภาวนาในใจในขณะหายใจเข้าว่า "หายใจเข้าเบาบาง" และ ในขณะหายใจออกว่า"หายใจออกสบายใจ" หากเรา สามารถควบคุมลมหายใจได้ตลอดทั้งวันเช่นนี้ ลมหายใจอันละเอียดอ่อนจะปรุงแต่งให้ร่างกายของเราสงบระงับ ทำให้เราดำเนินชีวิตไปตลอดทั้งวันอย่างมีความสุข
๓. ยามใดที่ได้พบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่น ได้ยินได้พบเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ ผิดหวัง เครียด กดดัน เบื่อหน่าย หรือมีสิ่งภายนอกมายั่วยุรบกวนจิตใจ เราจะรู้สึกตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะ ลมหายใจของเราจะสั้น และ หยาบลง ร่างกายจะรู้สึกไม่สบายทันทีในการแก้ปัญหา ให้เราหายใจให้ลึก และละเอียดเบาบางที่สุด เราจะพบด้วยตนเองว่าการควบคุมลมหายใจจะ ช่วยให้เรา สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองให้เป็นปรกติได้อย่างง่ายดาย ไม่ทุกข์ใจง่าย ๆ เหมือนแต่ก่อน
๔.ในการเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก เราต้องพบปะผู้คน และ ได้รับอิทธิพลจากสิ่งกระตุ้นเร้าต่าง ๆ มากมายรอบตัว หากเราไม่สำรวมระวัง ความทุกข์จะเข้ามาได้โดยง่ายทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้นเราจึงควรฝึกคิดมองโลกให้เป็นกุศล คือ มองอย่างฉลาด เกื้อกูลต่อสุขภาพจิต รู้จักคิด คิดเป็น ควบคู่ไปด้วย
ขั้นตอนการปฏิบัติทั้งหมดที่แนะนำมานี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ยังมีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ด้านอื่นๆ อีกมากเพื่อให้มีพัฒนาการที่ครบรอบด้าน ได้แก่ การใช้ชีวิตอย่างปรกติ มีพฤติกรรมทางสังคมที่ดี (ศีล) การฝึกฝนจิตใจให้มีสุขภาพจิตดี มีสมรรถภาพจิตดี สมควรแก่การงาน (สมาธิ) ฝึกคิดเป็น คิดถูกต้อง คิดเป็นกุศล ฝึกมองเห็นสภาวะที่เป็นจริงตามธรรมชาติ(ปัญญา)
ดังนั้นเราจึงควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป ไม่ควรหยุดนิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น